ป้ายกำกับ

Google (13) forum (12) webboard (12) กระดานสนทนา (12) ethic (10) มารยาท (10) politic (9) การเมือง (9) election (6) life (6) life style (6) local (6) การเลือกตั้ง (6) ชีวิต (6) ท้องถิ่น (6) cartoon (5) history (5) การ์ตูน (5) ประวัติศาสตร์ (5) แบบแผนชีวิต (5) family (4) freetalk (4) manga (4) strategy (4) war (4) ยุทธศาสตร์ (4) สงคราม (4) สนทนาทักทาย (4) data (3) download (3) sun tzu (3) ข้อมูล (3) ครอบครัว (3) ซุนวู (3) ระเบียบวิธี (3) Algorithm (2) administration (2) art (2) book (2) buddhist (2) business (2) chatroom (2) fiction (2) instruction (2) learning (2) management (2) methodology (2) monk (2) philosophy (2) search (2) society (2) technology (2) thai (2) website (2) การเรียนรู้ (2) ค้นหา (2) จัดการ (2) ธุรกิจ (2) นิยาย (2) บริหาร (2) ปรัชญา (2) พระสงฆ์ (2) พุทธศาสนา (2) ภาษาไทย (2) วิธีใช้ (2) สังคม (2) หนังสือ (2) ห้องสนทนา (2) เทคโนโลยี (2) E-mail (1) Facebook (1) Gmail (1) Thailand (1) Twitter (1) Youtube (1) ads (1) artbook (1) artist (1) birthplace (1) blog (1) city (1) communication (1) computer (1) concubine (1) discuss (1) eating (1) fallacy (1) father (1) focus (1) food (1) future (1) growth (1) height (1) homeland (1) ink (1) internet (1) introduce (1) language (1) lie (1) logic (1) marketing (1) morale (1) open (1) paper (1) parents (1) political party (1) printer (1) procedure (1) profile (1) reader (1) scan (1) service (1) spam (1) start (1) studybook (1) sufficient (1) system (1) thanks (1) thin (1) three kingdoms (1) topic (1) traveling (1) uthaithani (1) video (1) weblog (1) webmaster (1) weight (1) กระดาษ (1) กระทู้ (1) การกิน (1) การตลาด (1) การสื่อสาร (1) การเดินทาง (1) การเติบโต (1) ขยะข้อมูล (1) ขอบคุณ (1) ข้อปฏิบัติ (1) คติธรรม (1) ความสูง (1) คอมพิวเตอร์ (1) ตรรกะวิบัติ (1) ตรรกะศาสตร์ (1) ตระกูล (1) ตอแหล (1) นักอ่าน (1) น้ำหนัก (1) บรรพชน (1) บริการ (1) บ้านเกิด (1) บ้านเกิดเมืองนอน (1) ประเทศไทย (1) ผอม (1) พรรคการเมือง (1) พอเพียง (1) พ่อ (1) ภาษา (1) มุมมอง (1) ระบบ (1) วิจารณ์ (1) ศิลปิน (1) ศีลธรรม (1) สามก๊ก (1) หมึก (1) อนาคต (1) อาหาร (1) อุทัยธานี (1) เครื่องพิมพ์ (1) เมียน้อย (1) เมือง (1) แนะนำตัว (1) แบบเรียน (1) โฆษณา (1)

วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

[fallacy]คุณใช้เหตุผลอย่างเหมาะสมหรือไม่

Fallacy มีชื่อเรียกภาษาไทยว่า ปฤจฉวาที ทุตรรกบท หรือ เหตุผลวิบัติ เหตุผลลวง กล่าวคือ fallacy เป็นการใช้เหตุผลที่ไม่ดี อาจกล่าวเพื่อให้เห็นภาพได้ว่ามันเป็นการใช้เหตุผลอย่างมีเล่ห์ หลอกล่อให้ผู้ฟังยอมรับข้อสรุปที่เสนอด้วยเหตุผลที่ไร้น้ำหนักแต่ฟังดูดี หรือด้วยวิธีการที่ยอกย้อน อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าผู้ที่ใช้เหตุผลวิบัติไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่เจ้าเล่ห์จริงๆ เพราะมีหลายคนที่ใช้เหตุผลวิบัติโดยไม่รู้ตัว

Fallacy ในทางตรรกศาสตร์แบ่งเป็นหลากหลายชนิด รูปแบบการให้เหตุผลมากมาย มีทั้ง Formal fallacy (เหตุผลวิบัติที่พิสูจน์ความถูกต้องได้โดยเขียนรูปแบบของกฎของความสมเหตุสม ผล) และ Informal fallacy (เหตุผลวิบัติที่ไม่จัดในรูปแบบของกฎของความสมเหตุสมผลได้ตายตัว) หากจะให้อธิบายทั้งหมดก็คงจะกินเวลามหาศาลและน่าเบื่อเป็นอย่างยิ่ง จึงขอยกตัวอย่างเฉพาะที่น่าสนใจและพบได้บ่อยในการถกเถียงในเว็บบอร์ด

อนึ่งขอออกตัวก่อนว่า จขกท.ไม่ใช่นักใช้เหตุผลชั้นเลิศ เป็นเพียงนักตรรกศาสตร์มือสมัครเล่นที่ยังคงใช้เหตุผลแบบผิดๆอยู่บ้างในโลก แห่งความจริง ไม่ได้เก่งวิเศษวิโสมาจากไหน ก่อนตั้งกระทู้ก็ทำการบ้านมาเยอะ หาข้อมูลตาแฉะ วัตถุประสงค์ของกระทู้นี้คืออยากให้เพื่อนอ่านแล้วพิจารณาตนเอง ดูละครแล้วย้อนดูตัว จะได้รู้ว่าเราเองก็เคยใช้เหตุผลผิดๆหรือเปล่า และที่ตั้งในห้องหว้ากอก็เพราะตรรกศาสตร์เป็นศาสตร์แห่งการใช้เหตุผล ซี่งเหมาะสมกับห้องหว้ากอที่นิยมถกเถียงกันด้วยเหตุและผล (ไม่รู้เหมือนกันว่าอ้างอย่างนี้จัดเป็น fallacy หรือเปล่านะ ฮ่าฮ่าฮ่า) 

Fallacy of accident - ละทิ้งข้อยกเว้น

การสรุปเหตุผลโดยไม่สนใจข้อยกเว้น เป็น fallacy ที่ดูออกง่ายที่สุด แต่ก็ยังมีคนใช้อยู่เนืองๆ เช่น

กระทู้ถามว่าเราไม่ควรฆ่าสิ่งมีชีวิตใดๆเลยเพราะการฆ่าสิ่งมีชีวิตเป็นการทำความ ชั่ว ดังนั้นจุลินทรีย์ แบคทีเรีย เชื้อราต่างๆเราก็ไม่ควรฆ่าใช่หรือไม่ กระทู้ดังกล่าวจัดเป็น Fallacy of accident แบบหนึ่ง

“เราไม่ควรฆ่าสิ่งมีชีวิต ดังนั้นเราไม่ควรกินยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าแบคทีเรีย”

“เราไม่ควรฆ่าสิ่งมีชีวิต ดังนั้นเราไม่ควรช่วยตัวเองครับ”
 (อันนี้ไม่เกี่ยวครับ)


Fallacy of relative to absolute - เหมารวม

การสรุปแบบเหมารวม เป็นการสรุปตามโลกทัศน์ของผู้พูด เมื่อผู้พูดประสบกับเหตุการณ์หนึ่งๆเป็นประจำก็มักจะมองหาภาพรวมหรือรูปแบบ ของเหตุการณ์นั้นๆ ทั้งที่ความจริงแล้วสิ่งที่ผู้พูดประสบมาไม่จำเป็นต้องเป็นตัวแทนของความ จริงทั้งหมดก็ได้ ตรงข้ามกับอันแรก อันนี้ก็เจอบ่อยมากๆในเว็บบอร์ดเช่นกัน

กระทู้ถามว่าจบจากมหาวิทยาลัยไหนดีที่สุด เก่งที่สุด จัดเป็นกระทู้ล่อเป้า และจะล่อ fallacy ชนิดนี้เข้ามาตอบ

“ที่ทำงานผมมีแต่คนจบจากมหาวิทยาลัย A ซึ่งเก่งๆกันทุกคนเลย ดังนั้นคนที่จบจากมหาวิทยาลัย A เก่งทุกคน”

ในบางครั้ง เมื่อเราเข้าไปอ่านกระทู้ในห้องหนึ่งๆ บ่อยครั้งเข้า เราจะตัดสินภาพรวมของห้องนั้นจากประสบการณ์ที่เราเห็น ซึ่งแท้จริงแล้วอาจจะไม่เป็นอย่างที่เราคิด

“เปิดเข้าไปดูกระทู้ห้องเฉลิมไทยทีไรก็เจอแต่หน้าม้าทุกที ห้องเฉลิมไทยเป็นห้องของพวกหน้าม้า อย่าไปเข้าไปเสียเวลาอ่าน”

“ห้องราชดำเนินมีแต่เสื้อแดงและพวกหัวรุนแรง”

หรืออาจจะกล่าวได้ว่าการเหมารวมคืออคติในอีกรูปแบบหนึ่งก็ได้

“โทรศัพท์ยี่ห้อนี้ออกมากี่รุ่นๆก็แย่ไปหมด รุ่นที่เพิ่งออกใหม่ก็คงเหมือนกัน แย่แบบไม่ต้องรีวิว”

“นักการเมืองที่ผมเคยพบเห็นมีแต่พวกหาประโยชน์ใส่ตน นักการเมืองเป็นพวกโกงกินและทำลายชาติบ้านเมือง”


ในเชิงสังคมศาสตร์ถือว่าข้อความดังกล่าวข้างต้นเป็น มายาคติ (Myth) คือสิ่งที่เราเชื่อว่ามันเป็นจริงอยู่วันค่ำทั้งที่ความจริงอาจไม่เป็นอย่าง นั้นเสมอไปก็ได้

“คนไม่มีศาสนาที่ฉันเจอมีแต่พวกหัวรุนแรงทั้งนั้น ดังนั้นคนไม่มีศาสนาเป็นพวกหัวรุนแรง”


Fallacy of begging question- เอาคำถามเป็นคำตอบ

การนำเอาสิ่งที่เป็นประเด็นของคำถามมาเป็นคำตอบโดยทางตรงหรือทางอ้อม คาดคะเนบทสรุปจากข้อคำถามโดยไม่มีการพิสูจน์ใดๆทั้งสิ้น หรืออาจเรียกได้อีกอย่างว่าเป็นการให้เหตุผลแบบวกวน ใช้ข้อเสนอพิสูจน์บทสรุป และแล้วก็ใช้บทสรุปพิสูจน์ข้อเสนอ

กระทู้ห้องเฉลิมไทยถามว่าทำไมถึงแต่งตั้งให้นางสาวไทยเป็นผู้ประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมของประเทศไทย

“เพราะนางงามจะทำให้คนรู้จักประเทศไทยมากขึ้น”

ห้องสมุดหมวดปรัชญามีคนตั้งกระทู้ถามว่า ทำไมเราจึงต้องกตัญญูต่อบิดามารดา

“การกตัญญูเป็นคุณธรรมที่ลูกต้องมี”

การตอบแบบนี้จะทำให้บทสนทนาเหมือนการพายเรือในอ่าง ถามเท่าไรก็ไม่ได้คำตอบที่แท้จริง 


Fallacy of false cause (post hoc ergo propter hoc) - เพราะว่าสิ่งนี้เกิด…สิ่งนั้นจึงบังเกิด

คือ การสรุปว่าเหตุการณ์ A เป็นสาเหตุของเหตุการณ์ B โดยอาศัยแค่ว่า B เกิดขึ้นตาม A เท่านั้น ซึ่งอันที่จริงแล้วอาจจะเป็นแค่ความบังเอิญหรือมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยว ข้อง (fallacy of ignoring a common cause) ซึ่งความจริงควรมีการทดลองภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสมก่อนที่จะสรุป เช่น

กระทู้นำเสนอข่าวอาชญากรรม เด็กฆาตกรรมคนข้างบ้านโดยเลียนแบบพฤติกรรมในเกมที่เล่นเป็นประจำ

“เด็กคนนี้ติดเกมที่มีความรุนแรงสูงและฆ่าคนโดยเลียนแบบพฤติกรรมในเกม ดังนั้น เกมเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นฆาตกร”

กระทู้สร้างความชอบธรรมให้หนัง AV ญี่ปุ่น

“ในประเทศญี่ปุ่นมีทัศนคติเปิดกว้างอย่างมากเกี่ยวกับหนังโป๊ ประเทศญี่ปุ่นมีอาชญากรรมทางเพศต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ดังนั้นหนังโป๊ช่วยลดอาชญากรรมทางเพศ”

(ในกรณีดังกล่าว จขกท.แค่ยกตัวอย่างการสรุปแบบไม่สมเหตุสมผลโดยไม่มีข้อมูลยืนยัน ณ ขณะที่ความจริงมีงานวิจัยออกมารองรับประโยคข้างต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาปัจจัยทางสังคมอื่นของประเทศญี่ปุ่นประกอบด้วย)

post hoc ergo propter hoc ยังคงถูกใช้อีกมากตามหน้าหนังสือพิมพ์ประเทศสารขัณฑ์โดยเฉพาะเรื่องเหนือ ธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวง ที่มักโยงเหตุการณ์ธรรมชาติบางอย่างกับเหตุการณ์ประหลาด ความบังเอิญที่นานๆเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง เช่น พบงูเผือกในบ้านแล้วถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่ จึงสรุปว่างูเผือกเป็นผู้นำโชคมาให้เป็นต้น หรือแม้แต่ข่าวนี้… ศาสดาลิ้มอ้างรอดตายมาได้เพราะใส่จตุคาม


False dilemma – ทางเลือกลวง

ผู้ให้ เหตุผลสร้างทางเลือกขึ้นมาสองทางและบังคับให้เลือกทางใดทางหนึ่งเท่านั้น สำหรับแก้ปัญหา และเนื่องจากทางเลือกหนึ่งในนั้นไม่เป็นที่น่าปรารถนา จึงเป็นการบีบบังคับโดยกลายๆให้อีกฝ่ายเลือกทางที่ตนเองต้องการ ทั้งที่ในความจริงแล้ว คำถามดังกล่าวมีทางเลือกเพียงสองทางเท่านั้นจริงหรือ?

จากกระทู้ประวัติศาสตร์ คุณcoffeecompany หลงป่าประเทศอูกันดา มีผู้ให้ข้อสงสัยและจับผิดเหตุการณ์เป็นจำนวนมาก โดยที่ผู้ไม่เชื่อถือนั้นมีจำนวนมากกว่า เมื่อสมาชิกบางคนออกมาแสดงความเห็นว่า เป็นการจับผิดกันเกินจริงหรือเปล่า บางทีอาจจะเป็นเรื่องเข้าใจผิดกันก็ได้ ก็มีคนออกมากล่าวว่า ความเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับการจับผิดเป็นสาวกคุณคอฟฟี่ที่คอยออกมาแก้ต่าง ทำให้เกิด false dilemma ขึ้นว่าในเว็บบอร์ดมีคนอยู่เพียงสองประเภทเท่านั้นคือ คนที่ไม่เชื่อคุณคอฟฟี่ กับ สาวกคุณคอฟฟี่

อีกตัวอย่างที่ ชัดเจนที่สุดในประวัติศาสตร์พันทิปก็คือ เหตุการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นกับบ้านเราเมื่อไม่นานมานี้ สมาชิกแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปช.) ได้ออกมายึดถนน ชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาล ทำลายงานประชุมอาเซียน แล้วอ้างว่าเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย สมาชิกหลายคนในพันทิปกล่าวว่า หากไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนปช.ก็แสดงว่าเป็นพวกพันธมิตร แต่แท้จริงแล้วเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนปช.จำเป็นต้องเห็นด้วยกับพันธมิตรหรือไม่



Irrelevant conclusion (ignoratio elenchi) – สรุปมั่วซั่ว

การสรุปแบบไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม นำประเด็นใดประเด็นหนึ่งมาสรุปผลอย่างที่ไม่น่าเกี่ยวข้องกับประเด็น ของกระทู้ถาม ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้ตอบรู้สึกสบายใจในการให้เหตุผล fallacy นี้มีการใช้บ่อยมากในเว็บบอร์ด โดยมากถูกใช้โดยผู้ไม่มีวุฒิภาวะทางความคิด เนื่องจากยังไม่มีวุฒิภาวะทางความคิดจึงสรุปเป็นเหตุเป็นผลไม่ได้

เมื่อติงว่าการใช้ภาษาวิบัติในอินเตอร์เน็ตนั้นไม่เหมาะสม ในเว็บเด็กดื้อมีผู้ให้เหตุผลว่า

“ในเมื่อใช้ภาษาวิบัติก็อ่านรู้เรื่องเหมือนกัน การสื่อสารนั้นแค่เข้าใจกันก็ถือว่าพอแล้ว”

“การใช้ภาษาวิบัติ เป็นการประดิษฐ์คำใหม่ให้ดูสร้างสรรค์ แปลกแหวกแนว ไม่เห็นจะไม่เหมาะสมตรงไหน”

“การใช้ภาษาวิบัตินั้นเหมาะสมแล้ว เพราะทำให้พิมพ์ได้สะดวกรวดเร็ว ประหยัดเวลา”


ลองพิจารณาดูว่าเหตุผลเหล่านี้เหมาะสมหรือไม่ในการสรุปความ 


Slippery slope – ทางลาดชันสู่หุบเหวหายนะ

ผู้ พูดนำพาผู้ฟังไปสู่ชุดของเหตุและผลจำนวนมาก และสรุปไปสู่ผลลัพธ์สุดท้ายที่แย่ที่สุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเอาจริงเข้าแล้ว เหตุการณ์สุดท้ายไม่จำเป็นต้องเกิดจากเหตุการณ์แรกสุด เช่น

กระทู้ไม่สนับสนุนเสื้อผ้าขนสัตว์

“การใช้เสื้อผ้าขนสัตว์เป็นการสนับสนุนการฆ่าสัตว์ หากเราฆ่าสัตว์เพื่อเอาขนสัตว์มาใช้ แสดงว่าเราไม่เคารพสัตว์ ถ้าเราไม่เคารพสัตว์ ก็เท่ากับว่าเราไม่เคารพสิ่งมีชีวิตทั้งมวล ถ้าเราไม่เคารพสิ่งมีชีวิต เราก็เริ่มฆ่ากันเอง สุดท้ายเราก็ฆ่ากันตายหมด ดังนั้นเราไม่ควรใช้เสื้อผ้าขนสัตว์”

กระทู้การุณยฆาต

“การอนุญาตให้กระทำการุณยฆาตจะนำไปสู่ การเปลี่ยนทัศนคติความคิดของแพทย์ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นการลดคุณค่า ให้ความสำคัญกับชีวิตน้อยลง โดยให้ดูกระแสสถานะของการแพทย์ใน US ที่การบีบบังคับด้านการเงินทำให้ลำบากในการดูแลรักษาจัดการซึ่งเริ่มต้น เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์แพทย์-คนไข้ ในวิถีทางที่ย่ำแย่ทางศีลธรรม สำหรับระบบการดูแลสุขภาพการตัดสินเรื่องค่าใช้จ่ายจะครอบงำการตัดสินใจของ แพทย์ที่จะปฏิบัติอย่างเหมาะสมต่อผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยป่วยมากๆ หรือ ย่ำแย่มากๆ และการดูแลที่พิเศษและค่าใช้จ่ายที่แพงสำหรับคุณภาพชีวิตที่ลดน้อยลงเท่า นั้น ดังนั้นทัศนะนี้จะเป็นการเย้ายวนกดดันให้แพทย์ถามถึงการุณยฆาตหรือบางทีก็ ฆ่าพวกเขา(ผู้ป่วย)ซึ่งฝืนโดยตรงกับเจตจำนงของพวกเขา”

(ประโยคข้างต้นเป็นบทสนทนาที่เกิดขึ้นจริงในบทความ Do Physicians Have an Inviolable Duty Not to Kill? ของ Gary Seay) 


Fallacy of questionable analogy – การเปรียบเทียบอย่างไม่เหมาะสม

เมื่อสิ่งหนึ่งเปรียบเทียบกับอีกสิ่งหนึ่ง อีกสิ่งหนึ่งก็นำไปเปรียบเทียบกับอีกสิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงกันได้ เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆจนได้ข้อสรุปที่ไม่เหมาะสมในที่สุด เช่น

กระทู้การเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเหนือความเร็วแสง

“แต่ก่อนไม่มีใครคิดว่าจะมีคนวิ่งเป็นระยะทางหนึ่งไมล์ภายในเวลาสี่นาทีหรือ ความเร็วเสียงจะถูกทำลายลงได้ แต่เราก็ทำได้ในที่สุด เพราะฉะนั้น เราอาจกล่าวได้ว่าความเร็วแสงที่หลายคนเคยเชื่อว่าทำลายไม่ได้ ก็น่าจะเป็นไปได้ในอนาคตข้างหน้า”

จะเห็นว่าเป็นการเปรียบเทียบระหว่างความเร็วนักวิ่ง ความเร็วเสียงและมาจบที่ความเร็วแสงซึ่งไม่น่าจะเปรียบเทียบกันได้

“หากเรายอมให้กฎหมายรองรับการแต่งงานระหว่างรักร่วมเพศผ่านมติ ต่อไปเราคงยอมให้มีกฎหมายรองรับการแต่งงานระหว่างคนกับสัตว์ด้วยกระมัง”

น่าเศร้าใจที่ตัวอย่างข้างต้นถูกนำมาใช้ในโลกแห่งความจริงโดยพวกต่อต้านรักร่วม เพศ (If we legalize gay marriage, what's stopping us from legalizing so-called "marriages" based on bestiality?) ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ถูกเปรียบ เทียบอยู่ในระดับเดียวกัน


Double standard – สองมาตรฐาน

คือการใช้ มาตรฐานการตัดสินหรือการปฏิบัติต่างกันในสถานการณ์ที่เหมือนกัน ทั้งๆที่ในสถานการณ์นั้นไม่มีเหตุผลที่สมควรที่จะทำให้มีการใช้มาตรฐานต่าง กันเลย

ตัวอย่างสุดคลาสสิค เมื่อมีผู้ตั้งกระทู้ต่อว่าล็อกอินที่คอยเข้ามาโพสว่า “ผ่านมาอ่าน” ทุกความคิดเห็นที่หกสิบห้า มีผู้ให้แสดงความเห็นว่าก่อนหน้านี้ก็มีสมาชิกคนหนึ่งที่คอยเข้ามาโพสว่า “…เข้ามาแล” เฉยๆทุกกระทู้ ไม่เห็นมีใครว่าอะไรเลย

“ไม่รู้สิครับ ผมว่ามันต่างกันนะ คุณ Mr.X เขาอยู่มาก่อน และก็โพสอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว ส่วนใครจะมาเลียนแบบนั้นรับไม่ได้หรอกครับ”

หรือ เมื่อมีคนถามว่า ทำไมกระทู้นอกเรื่องที่ตั้งโดยสมาชิกท่านหนึ่งถึงยังอยู่ได้โดยไม่ถูกลบ ขณะที่ถ้าเป็นคนอื่นตั้งกระทู้ในลักษณะเดียวกันกลับถูกลบ ก็มีคนให้ความเห็นว่า

“คุณ N เขาเล่นเว็บบอร์ดนี้มาตั้งนานแล้วนะครับ ที่ผ่านมาก็ตอบกระทู้ดี ช่วยเหลือผู้อื่นตั้งมากมาย แค่ตั้งกระทู้นอกเรื่องกระทู้เดียวจะเป็นไรไป”

น่าเศร้าใจอีกครั้งตรงที่ ตัวอย่างทั้งสองที่ยกขึ้นมานั้น เกิดขึ้นจริงเสมอในโลกพันทิปและในโลกการเมืองขณะนี้


Argumentum ad Misericordiam – อ้างความน่าเห็นใจ

การขอความเห็นใจเป็นวิธีที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความสงสารหรือเห็นอกเห็นใจใน เรื่องที่ผู้พูดประสบ แล้วสรุปเหตุผลตามความเห็นใจนั้น แทนที่จะใช้หลักตรรกะในการพิสูจน์ความ การช่วยเหลือ เห็นใจกันเป็นเรื่องดีจริง แต่ต้องแยกแยะให้ถูกและคำนึงถึงสิ่งอื่นๆด้วยเช่น ความยุติธรรม ความถูกต้อง มาตรฐานสังคม หากเรายอมรับเหตุผลด้วยความเห็นใจในครั้งนี้ จะเป็นผลให้เรายอมรับเหตุผลอื่นๆในสถานการณ์เดียวกันด้วยหรือไม่ เช่น

มีผู้ตั้งกระทู้ถามว่า เด็กผู้หญิงจากชนบทที่มาขายบริการในกรุงเทพฯถือว่าผิดไหม

“เด็กที่มาขายตัวในกรุงเทพนั้นไม่ผิดหรอก เพราะไม่มีการศึกษา บ้านก็ฐานะยากจน หากไม่ขายตัวแล้วเขาจะทำอะไรกิน ใครจะเลี้ยงดูครอบครัวของเขา”

แต่จริงหรือไม่ที่ว่าหากมีเหตุผล ที่น่าเห็นใจแล้ว การกระทำนั้นจะถูกต้อง ถ้าเป็นเช่นนั้น การเป็นมือปืนฆ่าคนเพราะความจนก็คงไม่ผิด หรือหากมีคนมาปล้นเงินที่ได้มาจากการขายตัวของคนพูดข้างต้นด้วยเหตุผลเรื่อง ความจน คนพูดก็ต้องบอกว่าคนปล้นไม่ผิดเช่นกัน

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ฟังดูตลกไปเลย เคยมีคดีว่าเด็กคนหนึ่งกำลังถูกไต่สวนในคดีอาชญากรรมที่ทารุณโหดร้ายที่สุด โดยเขาได้เอาขวานจามศีรษะมารดา และบิดาของตนเสียยับเยิน เมื่อมาถึงศาล เห็นว่าศาลมีพยานหลักฐานต่างๆ มากมายที่รัดตัวจนดิ้นไม่หลุด จึงได้ขอความกรุณาต่อศาลให้ลดหย่อนผ่อนโทษให้ โดยอ้างว่าเพราะตนเป็นกำพร้าทั้งพ่อ และแม่อยู่แล้ว

การร้องขอความเห็นใจพบได้มากในพันทิป สำหรับห้องหว้ากอต้องบอกว่าส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ผล (เช่น ตั้งกระทู้ผิดหมวด โดนกดลบแล้วอ้างว่าหว้ากอใจดำ) 
แถมอีก1ตัวอย่าง
"คนไทยใช้Windowsเถื่อนไม่ผิด เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยากจน จะเอาเงินที่ไหนมาซื้อของลิขสิทธิ์"

Intentional fallacy – อ้างเจตนา

คือการให้เหตุผลกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์หนึ่งๆว่ามีความชอบธรรมแล้ว เพราะทำไปด้วยเจตนาดี เช่น เมื่อถามว่าแต่งตัวโป๊ไม่กลัวอันตรายหรือ แล้วคนตอบว่าไม่ได้แต่งเพื่อยั่วใคร แต่จริงหรือไม่ที่หากไม่มีเจตนาให้เกิดผลอย่างใดแล้ว ผลอย่างนั้นจะไม่เกิด หากเป็นเช่นนั้น เวลาใส่ทองเส้นโตไปเดินที่โจรชุมก็คงไม่ต้องกลัวอะไรกัน เพราะคนที่ใส่ทองไม่ได้มีเจตนาให้โจรปล้น

มีการตั้งกระทู้บทความดีๆแต่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของห้องหว้ากอ ผู้ตั้งกระทู้ได้ชี้แจงว่า ได้พบบทความดีๆก็อยากจะแบ่งปันให้ชาวหว้ากออ่านกัน แม้จะนอกเรื่องและไม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สักกระผีกเลยก็ตาม ในเมื่อเจ้าของกระทู้มีเจตนาดีอย่างนี้แล้วผิดตรงไหน ทำไมกระทู้นี้ถึงจะถูกลบ

จริงหรือไม่ที่เมื่อมีเจตนาดีแล้วการกระทำนั้นจะไม่ผิด หากทุกคนตั้งกระทู้ผิดหมวดโดยอ้างว่ามีเจตนาดี เนื้อหาของห้องหว้ากอจะยังคงเป็นวิทยาศาสตร์อยู่หรือไม่
แถมอีก1ตัวอย่าง
"ชาวเฉลิมไทยเอาScanการ์ตูนฉบับล่วงหน้ามาโพสต์ด้วยเจตนาดี เป็นน้ำใจให้สมาชิกด้วยกัน ไม่ได้ต้องการให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือหวังให้มีผลกระทบต่อยอดขาย จึงไม่น่าจะเป็นการกระทำที่ผิด"


Argumentum ad Ignorantiam – การอ้างความไม่รู้

เมื่อ ไม่รู้จึงสรุปแบบไม่รู้ (ทางศาสนาพุทธเรียกว่า อวิชชา) แม้สำมัญสำนึกแล้วเราอยู่แล้วว่าอ้างไม่ได้แต่ก็ยังมีคนอ้าง วิธีนี้มักอ้างอยู่ในรูป “ไม่มีใครรู้หรือพิสูจน์ได้ว่าสิ่งหนึ่งจริง ฉะนั้นสิ่งนั้นเท็จ หรือในทางกลับกัน ไม่มีใครรู้หรือพิสูจน์ได้ว่าสิ่งหนึ่งเท็จ ฉะนั้นสิ่งนั้นจริง” เป็นข้ออ้างที่ใช้กันอย่างมากทั้งทางฝั่งวิทยาศาสตร์และศาสนา ดังนั้นจึงพบได้มากที่สุดในกระทู้ความเชื่อปะทะวิทยาศาสตร์

ในเมื่อวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า วิญญาณมีอยู่จริงไม่ ดังนั้นวิญญาณไม่มีอยู่จริง

ในเมื่อไม่มีหลักฐานว่าตายแล้วสูญ ดังนั้นโลกหลังความตายมีอยู่จริง


เห็นได้ว่าข้อบกพร่องของ fallacy ชนิดนี้คือการด่วนสรุปโดยที่ยังไม่รู้ความจริง ไม่ว่าวิญญาณจะมีอยู่จริงหรือไม่ เราไม่สามารถสรุปแบบฟันธงลงไปได้ ตราบใดที่ยังไม่มีการพิสูจน์เด่นชัด


Argumentum ad Baculum – ใช้อำนาจเข้าข่ม

Fallacy ชนิดนี้มักถูกใช้ในกรณีที่ผู้ถกเถียงเอาชนะด้วยเหตุผลไม่ได้ ง่ายที่สุดคือการใช้อำนาจเข้าข่มเพื่อให้ยอมรับในเหตุผล จัดเป็นเหตุผลวิบัติที่เล่นกับความกลัวของผู้อื่น (Appeals to fear) โดยที่ผู้พูดอาจมีอำนาจนั้นอยู่ในมือจริงหรือไม่ก็ได้ครับ อย่างเช่น

มิสเตอร์พลังงานกล่าวว่าเขาสามารถออกแบบเครื่องจักรนิรันดร์ที่ให้พลังงานได้อย่าง ไม่สิ้นสุด แต่ผู้ฟังกลับต่างรู้สึกกังขาและกล่าวว่าผิดกฎเทอร์โมไดนามิกส์ ทุกคนต่างเรียกร้องให้มิสเตอร์พลังงานออกมาชี้แจง มิฉะนั้นก็เป็นพวกลวงโลกดีๆนี่เอง มิสเตอร์พลังงานเถียงด้วยเหตุผลสู้ไม่ได้จึงขู่ว่าจะฟ้องร้องทุกคนที่กล่าว หาว่าเขาเป็นพวกลวงโลก

ในกรณีดังกล่าว มิสเตอร์พลังงานไม่ได้ตอบคำถามผู้ฟัง แต่กลับยกประเด็นเรื่องการฟ้องร้องขึ้นมาเพื่อให้อีกฝ่ายยอมจำนน (หรือเปล่า?)

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจของ Argumentum ad Baculum เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อประธาณาธิบดีเชอร์ชิลได้บอกที่ประชุมว่าโป๊ปได้เสนอทางที่ควรปฏิบัติ บางประการ แต่สตาลินไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และได้ถามว่า “ท่านว่าโป๊ปมีมีทหารพอจะส่งออกปฏิบัติการในแนวรบได้สักกี่กองพล” สตาลินได้ยกอำนาจ(ทางทหาร)ของตนที่เหนือกว่าเพื่อข่มความเห็นของโป๊ปให้ตกลง ไป

หรืออย่างในรูปก็จัดเป็น Argumentum ad Baculum ครับเนื่องจากเป็นการเล่นกับความกลัวของมนุษย์


Argumentum ad Populum – อ้างคนหมู่มาก

การเคารพความเห็นของผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งดี การช่วยกันตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็เป็นสิ่งดี ความเห็นที่พิจารณาจากคนส่วนใหญ่นั้นมักเป็นสิ่งที่เหมาะสม แต่เสมอไปหรือไม่? หรือบางครั้งการอ้างความเห็นคนส่วนมากอาจไม่ถูกต้องเพราะคนส่วนมากอาจไม่ได้ คิดอย่างนั้นจริงๆก็ได้ หรือบางครั้งคนส่วนมากก็อาจเป็นฝ่ายที่ไม่ถูกต้อง เช่น การอ้างว่าใครๆก็ทำกันทั้งนั้น

กระทู้รณรงค์เลิกซื้อขายของละเมิดลิขสิทธิ์

”ผมคิดว่าเรื่องของเถื่อน ผิดลิขสิทธิ์กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปแล้ว อย่าว่าแต่ในบ้านเราเลย จีนนี่ก็ตัวดี มีประชากรกี่ล้านคนล่ะ ใช้ของก็อปกันทั้งนั้น พวกมะกันเองก็เถอะ…”

กระทู้นอกเรื่อง

“ใครๆก็ตั้งกระทู้นอกเรื่องกันทั้งนั้น ทำไมเราจะตั้งกระทู้นอกเรื่องไม่ได้ล่ะ ถ้าจะว่าก็ต้องว่าคนทั้งห้องสิ”

จะเห็นได้ว่าการกระทำหรือความเชื่อของคนหมู่มากไม่จำเป็นต้องถูกต้องหรือดีงามเสมอไป

เราควรพิจารณาว่าเมื่อใดควรอ้างคนส่วนมาก ไม่ควรอ้างพร่ำเพรื่อ มิฉะนั้น เราจะไม่สามารถละทิ้งความคิดที่ผิด ค่านิยมที่ไม่เหมาะสมได้ (อันนี้นอกจากจะเป็นการใช้ตรรกะไม่เหมาะสมแล้ว ยังส่งเสริมให้เกิดปัญหาสังคมอีกด้วย) 


Fallacy of accent (Quoting out from context) – ตัดข้อความเพียงส่วนหนึ่งมาอภิปราย

เป็น fallacy ที่น่าเกลียดมากแต่กลับใช้กันเยอะ คือการเถียงแบบศรีธนญชัย ตัดเพียงข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งมาวิพากษ์ การยกเพียงข้อความส่วนหนึ่งของหนังสือ หรือของคำพูดใครก็ตามมาโดยไม่พิจารณาบริบทที่อยู่รอบข้างมีผลทำให้สรุปความ แบบผิดๆได้สูงมาก และถือเป็นเทคนิคหนึ่งของ Propaganda อย่างหนึ่ง ลักษณะการใช้เหตุผลดังกล่าวพบมากในห้องราชดำเนิน จนเว็บมาสเตอร์ต้องออกกฎว่าห้ามถกเถียงกันแบบเจ้าถ้อยหมอความ ตีความทีละประโยค เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามใน ห้องอื่นก็ใช่ว่าจะไม่มี ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดเอย (ตีความหนังสือโดยยกมาเพียงหนึ่งประโยค) ห้องศาสนาเอย (ตีความพระคัมภีร์หรือพระไตรปิฎกจากข้อความเพียงส่วนเดียว-ทั้งที่ฉบับจริง ยาวหลายร้อยหน้า) ห้องเฉลิมไทยเอย (ตีความคำพูดดาราโดยการยกมาเพียงประโยค-ไม่ต่างจากนิสัยที่หนังสือพิมพ์หัว สีของไทยชอบใช้กัน-ยกตัวอย่างเช่นกระทู้ดีเจนายหนึ่งเรียกยศสิบเอก, สอ. เป็นสูบอึ) หรือแม้แต่ห้องหว้ากอเองก็มีสมาชิกคนหนึ่งที่ปรากฏตัวเกือบ ทุกครั้งเมื่อมีกระทู้วิวัฒนาการ สมาชิกคนดังกล่าวจะพยายามตีข้อความ หลักฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการให้ตกลงไปโดยการยกข้อความของความคิดเห็นอื่นมา แย้งทีละประโยคๆ โดยไม่มองภาพรวมทั้งหมดที่ความคิดเห็นต้องการจะสื่อ


Argumentum ad Hominem – โจมตีบุคคล

กล่าวคือการนำประเด็นของคุณลักษณะ ประวัติส่วนตัวของบุคคลมาร่วมในประเด็นการโต้เถียง ในการโต้แย้งกันนั้นเราต้องการพิสูจน์ว่าเหตุผลของใครถูกขอใครผิด และเหตุผลจะถูกหรือผิดนั้นไม่ได้ขึ้นกับว่าใครเป็นผู้พูด หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า หากสิ่งใดเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักเหตุผล ไม่ว่ามันจะออกมาจากปากของใครมันก็ยังเป็นสิ่งที่ถูกอยู่วันยังค่ำ ดังนั้น การโจมตีที่ตัวผู้พูด จึงไม่ใช่เหตุผลว่าสิ่งที่กำลังตัดสินกันอยู่ถูกต้องหรือไม่

"ความจริงของประโยค ไม่ขึ้นกับผู้ที่พูดประโยคนั้น และไม่ขึ้นกับเจตนาในการพูดประโยคนั้น"

การโจมตีบุคคลจะเล่นกับประเด็นที่กำลังตัดสินกันอยู่หรือไม่ก็ได้ เช่น มีคนให้ความเห็นการรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ดีต่อสุขภาพ ก็มีผู้ออกมาแย้งว่าผู้พูดเป็นพวกมังสวิรัติจึงพูดอย่างนี้ (โจมตีเกี่ยวกับประเด็นที่ถกเถียง) หรือมีคนให้ความเห็นเกี่ยวกับระบบการสปอยของห้องเฉลิมไทยว่าไม่จำเป็นต้อง ขึ้นหัวกระทู้ทุกกรณีก็ได้ ก็มีผู้ออกมาแย้งว่าผู้พูดตอบเกรียนๆมาหลายกระทู้แล้ว ดังนั้นคำพูดในกระทู้นี้ก็เชื่อถือไม่ได้ (โจมตีไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ถกเถียง)

การโจมตีบุคคลเป็น fallacy ที่พบได้บ่อยที่สุดในโลกไซเบอร์ เมื่อการทะเลาะถกเถียงเกิดขึ้นในเว็บบอร์ด สิ่งที่เราพบคือประวัติส่วนตัวของฝ่ายหนึ่งจะเริ่มถูกขุดคุ้ยและประจานให้ เสื่อมเสีย หรือไม่ก็เล่นที่การใช้ภาษา (จัดเป็น Ad Hominem เช่นกัน เนื่องจากไม่เกี่ยวกับประเด็นที่ถกเถียง) ทั้งนี้ไม่ได้กล่าวว่าความผิดที่กระทำไม่สมควรประจาน หรือภาษาที่ผิดไม่จำเป็นต้องตำหนิเพื่อแก้ไข แต่เราควรแยกแยะประเด็นให้ออกจากกันระหว่างการโจมตีที่ตัวบุคคลกับเรื่องที่ ถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากการโจมตีบุคคลจะทำให้การตัดสินมีอคติได้


Argumentum ad Hominem Tu Quoque – แกก็เหมือนกัน ดังนั้นฉันไม่ผิด

คือ Ad Hominem อีกรูปแบบที่พบได้มากไม่น้อยหน้ากัน พูดง่ายๆคือกล่าวว่าอีกฝ่ายเองก็(เคย)กระทำตรงข้ามกับสิ่งที่พูด ดังนั้นข้อความที่พูดออกมาจึงเชื่อถือไม่ได้ เช่น คุณหนุ่ยกล่าวว่าการ ดื่มเหล้านั้นไม่ดีต่อสุขภาพแต่ตัวคุณหนุ่ยเองก็ยังดื่มเหล้าอยู่ เด็กหญิงโหน่ยฟังแล้วก็คิดว่าสิ่งที่คุณหนุ่ยพูดนั้นไม่น่าจะถูกเพราะถ้าการ ดื่มเหล้าไม่ดีจริง ทำไมคุณหนุ่ยถึงยังดื่มล่ะ เมื่อเราพิจารณาดูแล้วอาจจะเริ่มคล้อยตามและมองว่าการให้เหตุผลของเด็กหญิง โหน่ยแบบนี้ไม่เห็นจะผิดตรงไหน จึงอยู่ที่ว่าการดื่มเหล้าทำให้คำพูดของนายหนุ่ยไม่น่าจะเชื่อถือแต่ไม่ได้ พิสูจน์ว่าข้อความที่นายหนุ่ยพูดนั้นเป็นสิ่งที่ผิด

ตัวอย่างกระทู้ห้องเฉลิมกรุงเกี่ยวกับการซื้อซีดีเถื่อน หรือโหลดเพลงจากอินเตอร์เนต

นาย A : การซื้อซีดีเถื่อนเป็นสิ่งที่ผิด เราไม่ควรสนับสนุนทุกรูปแบบ
นาย B : การโหลดเพลงจากอินเตอร์เนตก็มักง่ายเหมือนกัน ไม่ควรทำเพราะเป็นการส่งเสริมการละเมิดลิขสิทธิ์
นาย C : น่าจะมีกฎหมายที่ออกมาควบคุมเรื่องพวกนี้อย่างจริงจังเสียทีนะ
นาย D : แหม อยากถามว่าพวกที่ไม่เห็นด้วยๆกันเนี่ย ใช้วินโดว์แท้กันหรือเปล่าครับ ถ้าเปล่าก็อย่ามาพูดดีกว่า
นาย A, B, C : …..


การซื้อซีดีเถื่อน หรือโหลดเพลงจากอินเตอร์เนตเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้ว่าผู้พูดจะเคยซื้อ เคยใช้ของผิดลิขสิทธิ์ใดมาก่อนก็ไม่ทำให้ความจริงนี้เปลี่ยนแปลงไปได้


Strawman fallacy – หุ่นไล่กา

Strawman เป็นการโจมตีที่ช่องโหว่ของเหตุและผล กล่าวคือพยายามเบี่ยงประเด็นจากสิ่งที่โต้แย้งได้ยาก ไปสู่สิ่งที่มีช่องโหว่เยอะๆ ที่สามารถเถียงได้ง่ายกว่า หรืออาจจะเป็นการโจมตีบุคคลโดยดึงประเด็นที่อ่อนไหวมาขยายความให้ดูใหญ่โต และโต้เถียงได้ยาก อันเป็น fallacy ที่พวกเทพในเว็บบอร์ดชอบใช้เพื่อให้ตัวเองชนะ และยังเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นอีกวิธีหนึ่งด้วย

กระทู้รักชาติ

นาย A : ความคลั่งชาติเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก่อให้เกิดความรุนแรงต่างๆตามมาได้
นาย B : เพราะชาติทำให้ผมมีชีวิตได้อยู่ทุกวันนี้ หากจะให้ทำอะไรเพื่อชาติผมทำได้ทั้งนั้น จะว่าคลั่งชาติก็ได้ แล้วตัวคนพูดล่ะรักชาติหรือเปล่า ถึงได้มากล่าวว่าคนอื่นคลั่งชาตินั้นไม่ดี


จะเห็นได้ว่านาย A ไม่ได้พูดเลยด้วยซ้ำว่าตัวเองไม่รักชาติ แต่ถูกยกเป็นเป้าโจมตีขึ้นมาเฉยๆ

กระทู้เสียตัววันวาเลนไทน์

นาย A : ผมเห็นว่าเราคงห้ามไม่ให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์กันในวันวาเลนไทน์ไม่ได้ เราควรรณรงค์ให้มีการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคติดต่อและท้อง ก่อนวัยอันควร
นาย B : อ๋อ จะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฟรีเซ็กส์ใช่ไหม แค่นี้ภาพลักษณ์ประเทศไทยก็แย่ไม่พอหรือไง! จะให้ยุให้เสียตัวกันในวันวาเลนไทน์เลยใช่ไหม


นาย A ยังไม่ได้พูดเลยว่าสนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์ เขาเสนอทางป้องกันอื่นที่อาจจะเหมาะสมกว่า แต่นาย B กลับยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่ทำให้นาย A ถูกมองในแง่ลบ 


References

จำนง ทองประเสริฐ. ตรรกศาสตร์: ศิลปะแห่งการนิยามความหมายและการให้เหตุผล. 2517. พิมพ์ครั้งที่ 5. แพร่พิทยา.
ปรีชา ช้างขวัญยืน. การใช้เหตุผล: ตรรกวิทยาเชิงปฏิบัติ. 2538. พิมพ์ครั้งที่ 4. สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ชัชชัย คุ้มทวีพร. ตรรกวิทยา. 2534. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สมประสงค์ น่วมบุญลือ. หลักแห่งเหตุผล. เอกสารประกอบการสอนคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
ปกรณ์ สิงห์สุริยา. เหตุผลวิบัติ. Site: http://gotoknow.org/post/tag/fallacy
David Roberts. Reasoning: Other Fallacies. Site: http://writing2.richmond.edu/WRITING/wweb/reason2d.html
http://atheism.about.com/library/FAQs/skepticism/blfaq_fall_poisoningwell.htm
http://www.nizkor.org/features/fallacies/index.html#index
http://gotoknow.org/blog/neutral/206114
http://www.fallacyfiles.org

------------------------------------------------------------------------

สุดท้ายนี้จขกท.ก็ต้องขออภัย หากไปกัดจิกใครเข้าจนรู้สึกแสบๆคันๆ (ตัวอย่างที่เกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อ เรียนให้ทราบว่าจขกท.ไม่ได้คิดเองแต่ยกตัวอย่างมาจากตำราตรรกศาสตร์) ทั้งนี้ก็ขอให้เชื่อเถอะว่าพวกเราต่างใช้ fallacy ทุกๆวันโดยไม่รู้ ไม่รู้ว่าเป็นการใช้เหตุผลแบบไม่เหมาะสม ถามว่ามีข้อเสียไหม แน่นอนอยู่แล้ว การใช้เหตุผลอย่างไม่เหมาะสมจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ผิดพลาด นำไปสู่คำตอบที่ไม่สมเหตุสมผล หรือคำตอบที่ได้มาโดยมิชอบ (กึ่งบังคับให้ความเห็นอีกฝ่ายยอมจำนน) กระทู้นี้ก็หวังแค่ว่า ก่อนที่เราจะโต้เถียงกันเรื่องอะไรก็ขอให้พิจารณากันก่อนว่าเราใช้เหตุผล อย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ครับ

จากคุณ : Cryptomnesia - [ 2 มิ.ย. 52 17:01:48 ] แห่งโต๊ะหว้ากอ ณ พันทิป


การใช้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล มันเกิดจากกลไกการป้องกันตัว(defend mechanism) เพื่อปกป้องความเชื่อ หรือปกปิดความผิดของตัวเอง แม้บางครั้งผู้พูดเองจะรู้ดีว่าสิ่งที่พูดไปไม่ค่อยสมเหตุสมผล แต่มันนึกออกได้แค่นั้นระหว่างพูดก็เลยต้องพูดออกไป โดยเฉพาะการข่ม หรือใช้อารมณ์ชี้นำ เพื่อให้ดูรุนแรง เพื่อกลบเหตุผลที่ด้อยกว่าของตัวเองไปซะ

แต่การใช้เหตุผลและตรรกะใน การโต้แย้งกัน มันก็ยังมีจุดอ่อน คือถ้าบางเรื่องเป็นเรื่องรู้ได้เฉพาะตัว หรือประจักษ์มาด้วยสายตาตนเอง บางครั้ง ก็นำมาโต้แย้งได้ยาก เพียงเพราะมันไม่มีหลักฐานให้คนอื่นเห็น แต่จะให้ปฎิเสธว่ามันไม่จริงเพราะไม่สมเหตุสมผล มันก็คงขัดแย้งกับความเชื่อในใจอยู่ดี สุดท้ายแล้ว เราก็มักจะยึดเอาความเชื่อที่ประมวลผลจากประสบการณ์ตรง+ประสบการณ์แวดล้อม อื่นๆ มากกว่าเหตุผลที่อีกฝ่ายยกมา

สำหรับบางเรื่อง ก็ยอมรับว่า ผมเองมีการใช้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล(Fallacy) อยู่จริงๆ แต่ก็มักเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยากหรือเกี่ยวข้องกับความรู้สึกซะมาก ก็พยายามจะหลีกเลี่ยงกระทู้แนวๆนั้น แม้หลายครั้งจะอดใจไม่ได้

แต่การตอบกระทู้บ่อยๆ ก็เป็นการฝึกการใช้เหตุผลเหมือนกันนะ บางทีเขียนไปซะยืดยาว อ่านอีกครั้งก่อนกดส่งข้อความ ก็รู้สึกแปลกๆ ก็ต้องแก้ไข มีโอกาสตรวจสอบความคิดตัวเองมากกว่าการพูด ที่มีโอกาสไตร่ตรองน้อยกว่าเยอะ

จากคุณ : ....4จุด - [ 2 มิ.ย. 52 21:47:03 ] แห่งโต๊ะหว้ากอ ณ พันทิป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น