ป้ายกำกับ

Google (13) forum (12) webboard (12) กระดานสนทนา (12) ethic (10) มารยาท (10) politic (9) การเมือง (9) election (6) life (6) life style (6) local (6) การเลือกตั้ง (6) ชีวิต (6) ท้องถิ่น (6) cartoon (5) history (5) การ์ตูน (5) ประวัติศาสตร์ (5) แบบแผนชีวิต (5) family (4) freetalk (4) manga (4) strategy (4) war (4) ยุทธศาสตร์ (4) สงคราม (4) สนทนาทักทาย (4) data (3) download (3) sun tzu (3) ข้อมูล (3) ครอบครัว (3) ซุนวู (3) ระเบียบวิธี (3) Algorithm (2) administration (2) art (2) book (2) buddhist (2) business (2) chatroom (2) fiction (2) instruction (2) learning (2) management (2) methodology (2) monk (2) philosophy (2) search (2) society (2) technology (2) thai (2) website (2) การเรียนรู้ (2) ค้นหา (2) จัดการ (2) ธุรกิจ (2) นิยาย (2) บริหาร (2) ปรัชญา (2) พระสงฆ์ (2) พุทธศาสนา (2) ภาษาไทย (2) วิธีใช้ (2) สังคม (2) หนังสือ (2) ห้องสนทนา (2) เทคโนโลยี (2) E-mail (1) Facebook (1) Gmail (1) Thailand (1) Twitter (1) Youtube (1) ads (1) artbook (1) artist (1) birthplace (1) blog (1) city (1) communication (1) computer (1) concubine (1) discuss (1) eating (1) fallacy (1) father (1) focus (1) food (1) future (1) growth (1) height (1) homeland (1) ink (1) internet (1) introduce (1) language (1) lie (1) logic (1) marketing (1) morale (1) open (1) paper (1) parents (1) political party (1) printer (1) procedure (1) profile (1) reader (1) scan (1) service (1) spam (1) start (1) studybook (1) sufficient (1) system (1) thanks (1) thin (1) three kingdoms (1) topic (1) traveling (1) uthaithani (1) video (1) weblog (1) webmaster (1) weight (1) กระดาษ (1) กระทู้ (1) การกิน (1) การตลาด (1) การสื่อสาร (1) การเดินทาง (1) การเติบโต (1) ขยะข้อมูล (1) ขอบคุณ (1) ข้อปฏิบัติ (1) คติธรรม (1) ความสูง (1) คอมพิวเตอร์ (1) ตรรกะวิบัติ (1) ตรรกะศาสตร์ (1) ตระกูล (1) ตอแหล (1) นักอ่าน (1) น้ำหนัก (1) บรรพชน (1) บริการ (1) บ้านเกิด (1) บ้านเกิดเมืองนอน (1) ประเทศไทย (1) ผอม (1) พรรคการเมือง (1) พอเพียง (1) พ่อ (1) ภาษา (1) มุมมอง (1) ระบบ (1) วิจารณ์ (1) ศิลปิน (1) ศีลธรรม (1) สามก๊ก (1) หมึก (1) อนาคต (1) อาหาร (1) อุทัยธานี (1) เครื่องพิมพ์ (1) เมียน้อย (1) เมือง (1) แนะนำตัว (1) แบบเรียน (1) โฆษณา (1)

วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ตำราพิชัยสงครามซุนวู(ภาคกลาง)

บทที่ ๘ เก้าเปลี่ยนแปลง
อันวิธีการใช้ทหารนั้น แม่ทัพรับคำสั่งจากราชาเกณฑ์ทหารจัดเป็นกองทัพ

1. ห้ามหยุดตั้งทัพยังพื้นที่ซึ่งน้ำท่วมถึง หรือยากจะเดินทางได้

2. เมื่อไปถึงกลางทางแยกที่จะสามารถทะลุทะลวงไปได้ทุกที่ ให้ผูกมิตรกับทุกแคว้น

3. ห้ามหยุดยั้งยังพื้นที่ซึ่งทุรกันดาร เดินทางลำบากทั้งไปหน้าและถอยหลัง

4. หากไปถึงพื้นที่ซึ่งจะถูกโอบล้อมได้ง่าย นั่นคือเข้าง่ายออกยาก ทำให้ศัตรูจำนวนหยิบมือสามารถเล่นงานเราได้สบายๆ จะต้องวางแผนให้ดีๆ

5. หากไปถึงทางตัน ซึ่งไม่อาจทำได้ทั้งไปหน้าและถอยหลัง ให้เสี่ยงสู้ถวายชีวิต

6. บางเส้นทางไม่ควรเดินผ่าน

7. บางกองทัพไม่ควรปะทะด้วย

8. มีบางเมืองไม่จำเป็นต้องบุกตียึดครอง มีบางที่ไม่จำเป็นต้องไปแย่งชิงผลประโยชน์ (ได้ไม่คุ้มเสีย ได้แล้วไม่อาจแบ่งทหารไปเฝ้าประจำ ก็ไม่ควรไปบุกตี)

9. คำสั่งบางอย่างของราชาไม่ต้องไปทำตามก็ได้ ในกรณีที่คำสั่งของราชานั้นจะขัดกับหลักแห่งความปลอดภัยของกองทัพ


ดังนั้นแม่ทัพที่ทราบข้อดีของ “เก้าเปลี่ยนแปลง” ย่อมเป็นแม่ทัพที่ใช้ทหารเป็น แม่ทัพซึ่งไม่ชำนาญการใช้ “เก้าเปลี่ยนแปลง” แม้จะเชี่ยวชาญภูมิประเทศ ก็ไม่อาจได้ประโยชน์จากการนั้น

แม่ทัพที่ชาญฉลาดนั้น ยามคิดถึงปัญหา จะต้องคิดถึงทั้งข้อดีและข้อเสีย คิดถึงความเป็นไปได้ที่เลวร้ายที่สุดในขณะที่กำลังได้เปรียบ สิ่งที่ทำจึงจะสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นและสามารถหลีกเลี่ยงเคราะห์ภัยได้


การจะทำให้ราชาแคว้นอื่นยอมสยบ จะต้องใช้สิ่งที่ราชาผู้นั้นหวาดกลัวที่สุดไปข่มขู่คุกคาม

การจะควบคุมบังคับราชาแคว้นอื่น ต้องใช้เรื่องซึ่งอันตรายอย่างยิ่งไปทำให้เขากังวล

การทำให้ราชาแคว้นอื่นยอมสยบ ต้องใช้ผลประโยชน์เข้าล่อ


ดังนั้น หลักการใช้ทหาร อย่าตั้งความหวังว่าศัตรูจะไม่มา แต่ต้องพึ่งการตั้งรับอย่างแข็งแกร่งของฝ่ายตน เตรียมตัวให้พร้อมสรรพ

อย่าตั้งความหวังว่าศัตรูจะไม่บุก แต่ต้องพึ่งตัวเองโดยพยายามทำให้ศัตรูไม่อาจทำลายเราได้


ขุนพลทั้งหลายมักมีจุดอ่อนดังนี้

1. ห้าวหาญแต่ไร้แผนการ รู้จักแต่สู้เสี่ยงชีวิต จึงมีโอกาสถูกศัตรูล่อลวงไปฆ่าสูง

2. ถึงเวลาต้องรบจริงแล้วนึกขลาดเขลาขึ้นมา รักตัวกลัวตาย จึงมีโอกาสถูกศัตรูจับเป็นเชลยสูง

3. ใจร้อนขี้โมโห กระตุ้นหน่อยก็เดือดดาล จะถูกศัตรูยั่วแหย่ให้โกรธจนลืมตัว เคลื่อนทัพโดยประมาท

4. นิยมชื่อเสียงเกียรติยศ ยกย่องตัวเองเสียสูงส่ง อาจจะถูกศัตรูใช้วิธีเหยียดหยามดูแคลนจนรู้สึกต่ำต้อยด้อยปัญญาจนไหวพริบเสื่อมสูญได้

5. รักชาวเมืองเกินไป จะถูกศัตรูใช้ประโยชน์ทำให้ไม่อาจรบได้เต็มกำลังจนต้องตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและถูกควบคุม


5 ข้อข้างต้นเป็นข้อผิดพลาดสิ่งซึ่งแม่ทัพมักถลำตัวกระทำได้โดยง่าย เป็นความหายนะในการใช้ทหาร การล่มสลายของกองทัพ แม่ทัพถูกฆ่า ล้วนมีสาเหตุมาจาก 5 ข้อนี้ทั้งสิ้น นี่จึงเป็นสิ่งที่ผู้เป็นแม่ทัพมิอาจไม่ระวัง

บทที่ ๙ การเดินทัพ
ในการเดินทัพและจับตาดูข้าศึก ควรระวังดังต่อไปนี้


เมื่อเดินทัพผ่านพื้นที่ภูเขา

1. ให้เดินเลาะไปตามหุบเขาซึ้งมีหญ้าน้ำอุดมสมบูรณ์

2. ยามหยุดตั้งทัพ ต้องเลือก “ที่เป็น” คือ มีทางหนีทีไล่สะดวก และตั้งค่ายพักในที่สูง หันหน้าไปทางทิศใต้

3. หากศัตรูยึดที่สูงได้ ห้ามไปปะทะด้วยเด็ดขาด


หากต้องข้ามแม่น้ำ

1. ต้องตั้งค่ายพักในจุดที่ห่างจากแม่น้ำพอสมควร

2. หากทัพศัตรูยกข้ามแม่น้ำมาจู่โจม อย่าปะทะกันในน้ำ ให้ฉวยโอกาสจู่โจมขณะที่ทัพศัตรุส่วนหนึ่งข้ามแม่น้ำมาแล้วจะได้ผลที่สุด

3. หากต้องปะทะกับทัพศัตรู อย่าปะทะกันใกล้ๆ แม่น้ำ

4. ขณะตั้งค่ายพักหรือจัดทัพใกล้แม่น้ำ ก็อย่าตั้งอยู่ทางใต้น้ำของศัตรู


หลักการเดินทัพผ่านพื้นที่ดินเค็มหรือน้ำท่วมถึงมีหนองบึง

หากผ่านพื้นที่ดินเค็มหรือน้ำท่วมถึงมีหนองบึง ต้องรีบผละห่างโดยเร็ว ห้ามหยุดพักตั้งค่ายเด็ดขาด

หากปะทะกับศัตรูในพื้นที่ดินเค็มหรือมีหนองบึงน้ำท่วมถึง ให้ยึดพื้นที่ซึ่งมีหญ้าน้ำและติดป่าไม้


การตั้งทัพยังทุ่งราบ

ต้องเลือกที่ราบเรียบ จะให้ดีด้านหลังควรอิงเขาสูง ให้ด้านหน้าลาดลงต่ำ ด้านหลังเป็นภูสูง


ตามธรรมดาแล้ว การตั้งทัพมักนิยมตั้งในที่สูง รังเกียจการตั้งทัพในที่ต่ำ เน้นการหันหน้าไปทางทิศใต้ หลีกเลี่ยงการหันหน้าไปทางทิศเหนือ และตั้งค่ายพักในที่ซึ่งสะดวกแก่การหาปัจจัยดำรงชีวิต เช่นนี้ทหารทั้งหลายจะได้ไม่เจ็บป่วย นี่คือหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้ชนะสงคราม

การตั้งทัพยังเนินสูง หรือเขื่อนตลิ่ง ต้องหันหน้าไปทางทิศใต้ ทั้งยังต้องหันหลังให้ยอดเนิน ปัจจัยอันเป็นประโยชน์ต่อทหารเหล่านี้นั้นได้มาจากการช่วยเหลือของชัยภูมิ

หากต้นแม่น้ำมีฝนตกหนัก มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก ให้รอจนสายน้ำสงบนิ่งค่อยข้ามเพื่อป้องกันน้ำป่าไหลบ่า

หากพบพื้นที่เหล่านี้

สองฟากแม่น้ำเป็นหน้าผาสูงชัน

บ่อสวรรค์ รอบด้านล้วนเป็นผาสูง ตรงกลางเป็นที่ต่ำ

คุกสวรรค์ รอบด้านมีแต่เส้นทางอันตราย เข้าง่ายออกยาก

ตาข่ายฟ้า คือพื้นที่เต็มไปด้วยพุ่มหนาม ยากจะผ่านไปได้

กับดักฟ้า พื้นที่ชื้นแฉะเป็นบ่อโคลน

ช่องว่างแห่งฟ้า คือพื้นที่ผาสูงชันขนาบหุบผาเล็กแคบไว้ตรงกลาง หรือ ทางที่เว้าลึกลงไปหลายฉื่อ กว้างหลายจ้าง

จะต้องรีบผ่านไปโดยเร็วและห้ามเข้าไปใกล้ เราหลีกหนีห่างจากมัน ให้ศัตรูเข้าไปใกล้มัน

เราเผชิญหน้ากับชัยภูมิเหล่นี้ โดยให้ศัตรูหันหลังให้ชัยภูมิเหล่านี้

หากกองทัพต้องเดินผ่านภูมิประเทศซึ่งเป็นภูเขาและแม่น้ำที่เปี่ยมอันตราย พื้นที่ต่ำมีพุ่มหนามงอกเต็ม และป่าทึบ จะต้องตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะพื้นที่เหล่านี้จะเป็นที่ซ่อนตัวสำหรับซุ่มจู่โจมและเป็นที่ซ่อนตัวของไส้ศึกได้ง่ายมาก


ทหารข้าศึกที่อยู่ห่างจากเราไม่มากแต่ยังคงรักษาความสงบเยือกเย็นอยู่ได้ เป็นเพราะถือดีว่าอยู่ในชัยภูมิที่ได้เปรียบ

หากทหารข้าศึกมาท้าทายเราทั้งที่ยังอยู่ห่างไกล แสดงว่าต้องการล่อเราให้เข้าไปใกล้

การที่ศัตรูไม่ยอมยึดชัยภูมิมีเปรียบแต่กลับยึดชัยภูมิราบเรียบธรรมดา แสดงว่ามีจุดประสงค์จะใช้ประโยชน์จากการนั้นโดยเฉพาะ

หากในป่ามีต้นไม้หลายต้นขยับไหว แสดงว่าศัตรูวางกำลังหมายซุ่มโจมตีเรา

หากในกอหญ้าพุ่มไม้จัดวางสิ่งของบังตา แสดงว่าศัตรูใช้กลลวงหมายตบตาเรา

การที่อยู่ๆ นกก็บินหนีขึ้นฟ้า แสดงว่าตรงนั้นมีทหารซุ่มอยู่

การที่สัตว์ป่าวิ่งหนีอย่างตื่นตระหนก แสดงว่ากองทัพใหญ่ของข้าศึกบุกมาจู่โจม

หากฝุ่นลอยสูงและแหลม แสดงว่ารถศึกของข้าศึกกำลังมุ่งตรงมายังเรา

หากฝุ่นลอยต่ำและแผ่กว้าง แสดงว่าทัพเดินเท้าของข้าศึกกำลังเดินมุ่งหน้ามายังเรา

หากฝุ่นกระจัดกระจาย เล็กเรียว และยาว แสดงว่าข้าศึกกำลังตัดฟืน

หากฝุ่นน้อยและเดียวสูงเดี๋ยวต่ำ แสดงว่าข้าศึกกำลังตรวจสอบพื้นที่ ตระเตรียมตั้งค่าย

หากทูตของศัตรูเอ่ยวาจานอบน้อมถ่อมตน ขณะที่ประเทศเขากำลังเร่งเตรียมการรบ แสดงว่าคิดจะมาบุกเรา

หากทูตของศัตรูพูดจาแข็งกร้าว ทั้งยังยกทัพมาประชิดคุกคาม แสดงว่าเตรียมจะถอย

หากรถศึกของข้าศึกออกนำและยึดครองปีกซ้ายขวา แสดงว่ากำลังจัดตั้งขบวนทัพเตรียมรบ

หากอยู่ๆ ข้าศึกก็มาขอเจรจาสงบศึกโดยไร้วี่แววมาก่อน แสดงว่ามีแผนร้ายซ่อนเร้น ฝ่ายข้าศึกจัดตั้งขบวนรถศึกแล่นเข้าหาเราอย่างรวดเร็ว แสดงว่ารอจะปะทะกับเราอยู่

ทัพข้าศึกครึ่งรุดหน้าครึ่งถอยหลัง อาจจะเป็นเพราะต้องการจะลวงให้เราสับสนคาดเดาไม่ถูกและเกิดการรวนเร

หากทหารข้าศึกเอาอาวุธออกยันพื้นเพื่อค้ำตัว แสดงว่าอดอยากหิวโหยเพราะขาดเสบียง

หากทหารข้าศึกตักน้ำจากบ่อแล้วรีบร้อนจะดื่มก่อน แสดงว่าทกองทัพกำลังขาดน้ำ

ศัตรูเห็นผลประโยชน์ให้ฉกฉวยแต่กลับไม่รุดเข้าแย่งชิง แสดงว่าอ่อนเพลียจัด

หากค่ายพักของศัตรูมีนกบินไปเกาะรวมฝูง แสดงว่าค่ายพักนั้นว่างเปล่า

หากในค่ายพักศัตรูมีเสียงกรีดร้องในยามราตรี แสดงว่าทหารข้าศึกกำลังกดดันและหวาดกลัว

ค่ายทัพศัตรูกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ แสดงว่าแม่ทัพของศัตรูคุมทัพไม่เข้มงวด

หากธงรบของค่ายทัพศัตรูโบกสะบัดไม่เป็นจังหวะ แสดงว่าขบวนทัพของศัตรูกำลังสับสนรวนเร

หากขุนนางของข้าศึกหงุดหงิดใจร้อนขี้โมโห แสดงว่ากองทัพของศัตรูอดหลับอดนอนมาหลายวันเกินไป

หากศัตรูใช้เสบียงอาหารป้อนม้า ฆ่าสิ่งมีชีวิตกิน เก็บอุปกรณ์หุงต้ม และไม่กลับไปยังค่ายพักอีก แสดงว่า “ปล้นเพราะจนตรอก”

หากทัพศัตรูจับกลุ่มรวมกันสุมหัวนินทาวิพากษ์วิจารณ์ แสดงว่าแม่ทัพคนนั้นไม่เป็นที่รักใคร่นิยมของพลทหาร

การที่ทัพศัตรูปูนบำเหน็จแก่ทหารบ่อยๆ แสดงว่าไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้แล้ว

หากทัพข้าศึกสั่งลงโทษพลทหารในกองทัพบ่อยๆ แสดงว่ากำลังตกอยู่ในภาวะคับขัน

แม่ทัพที่ทำตัวโหดร้ายกับผู้ใต้บังคับบัญชา จากนั้นก็กลับกลัวผู้ใต้บังคับบัญชา แสดงว่าไม่ฉลาดอย่างมาก

ข้าศึกอาศัยข้ออ้างส่งทูตมาเจรจา แสดงว่าต้องการจะสงบศึก

หากทัพข้าศึกบุกมาอย่างดุร้ายฮึกเหิม แต่กลับไม่ลงมือเสียที ทั้งยังไม่ยกทัพกลับไป จะต้องคะเนแผนการของเขาอย่างระมัดระวังรอบคอบ


สงครามใช่ว่าจำนวนทหารยิ่งมากยิ่งดี ขอเพียงไม่ดูถูกศัตรูบุกเข้าหาโดยประมาท และรวมกำลังเป็นหนึ่งเดียว คาดคะเนความเคลื่อนไหวของศัตรูให้แม่นยำ ก็เพียงพอที่จะชนะศึกแล้ว ผู้ซึ่งไร้แผนการ ไม่มองการณ์ไกล ทั้งยังประมาทศัตรู จะต้องถูกศัตรูจับเป็นเชลยอย่างแน่นอน


หากแม่ทัพสั่งลงโทษทหารในขณะที่ทหารยังไม่สนิทและไว้วางใจแม่ทัพ ทหารผู้นั้นจะต้องไม่ยอมรับนับถือ เช่นนี้ก็จะยากที่จะใช้ให้ทหารผู้นั้นไปรบได้

หากทหารสนิทสนมและยอมรับในความสามารถของแม่ทัพแล้ว ยังไม่ยอมใช้ระเบียบทัพจัดการอีก กองทัพเช่นนี้ก็ไม่อาจทำสงครามได้เช่นกัน

ดังนั้นต้องใช้หลักในการปกครองสั่งสอนทหาร ใช้ระเบียบทัพมาทำให้ความเคลื่อนไหวเป็นหนึ่งเดียว กองทัพเช่นนี้จึงจะสามารถชนะศึกได้

แม่ทัพที่ยามปกติจะทำตัวตามระเบียบทัพและสั่งสอนทหารในสังกัดอย่างสม่ำเสมอ ทหารก็จะยอมรับนับถือ

แม่ทัพที่ยามปกติไม่ทำตัวตามระเบียบทัพและไม่สั่งสอนทหารในสังกัด ทหารก็จะไม่ยอมรับนับถือ

ดังนั้น การทำตามระเบียบทัพอย่างเข้มงวด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้แม่ทัพและลูกทัพให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน


บทที่ ๑๐ ชัยภูมิ
ชัยภูมิแบ่งเป็น ปลอด , ขวาง , ยัน , ปากขวด , ผาชัน , ห่าง

1. ที่ซึ่งเราไปได้ ข้าศึกก็มาได้ เรียกว่า “ปลอด” ชัยภูมิเช่นนี้ เราต้องชิงตำแหน่งซึ่งอยู่ในที่สูงและหันหน้าไปทางทิศเหนือ จากนั้นทำให้เส้นทางขนส่งเสบียงเป็นไปอย่างสะดวกปลอดโปร่ง เช่นนี้ยามชิงชัยกับข้าศึกจึงจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเรา

2. ชัยภูมิซึ่งเส้นทางมีอุปสรรค เข้าไปได้แต่ยากจะถอยกลับได้ เรียกว่า “ขวาง” หากทัพศัตรูไร้การป้องกัน ให้จู่โจมทันทีจะประสบชัย แต่หากศัตรูมีการป้องกันแล้วเราไปจู่จม เราจะไม่อาจเอาชัยได้ เราก็ยากจะถอยได้ จะเป็นผลเสียต่อฝ่ายเรา

3. ชัยภูมิซึ่งทั้งฝ่ายเราและฝ่ายศัตรู ใครลงมือก่อนเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เรียกว่า “ยัน” ในชัยภูมิเช่นนี้ ต่อให้ศัตรูพยายามล่อลวงเราอย่างไรก็ห้ามเป็นฝ่ายจู่โจมก่อนเด็ดขาด ทางที่ดีให้แสร้งทำเป็นจะถอยทัพเพื่อล่อให้ศัตรูบุกเข้ามาครึ่งหนึ่ง จากนั้นฝ่ายเราจู่โจมอย่างกะทันหัน จึงจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายเรา

4. ชัยภูมิ “ปากขวด” ซึ่งมีทางออกคับแคบ หากเรายึดชัยภูมิได้ก่อน ให้ส่งทหารจำนวนมากอุดจุดซึ่งเป็นปากขวด แต่หากศัตรูยึดจุดที่เป็นปากขวดได้ก่อน ก็อย่าไปจู่โจม หากจุดปากขวดนั้นมีทหารศัตรูเฝ้าอยู่ไม่มาก ให้รีบจู่โจมยึดให้ได้ทันที

5. ชัยภูมิ “ผาชัน” หากเราเข้ายึดได้ก่อนศัตรู ให้ยึดที่สูงหันหน้าไปทางใต้แล้วตั้งค่ายรอจู่โจมข้าศึก หากข้าศึกยึดได้ก่อน ก็ให้ถอยเสีย อย่าไปจู่โจม

6. ในชัยภูมิ “ห่าง” ซึ่งทั้งฝ่ายเราและศัตรูอยู่ห่างกันค่อนข้างมาก กำลังของฝ่ายเราและศัตรูพอๆ กัน ไม่ควรจะไปท้าทาย ฝืนใจรบ จะไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายเรา


6 ข้อข้างต้น คือหลักในการใช้ประโยชน์จากชัยภูมิ และเป็นความรับผิดชอบอันสำคัญยิ่งของแม่ทัพ จึงมิอาจไม่พิจารณาอย่างจริงจัง


สภาพการพ่ายแพ้ของกองทัพมี หนี , ขาดระเบียบ , ขาดการฝึกฝน , แตกพ่าย , สับสน , พ่ายยับ

6 ประเภทนี้ล้วนมิได้เกิดจากภัยธรรมชาติทั้งสิ้น แต่เกิดจากความผิดพลาดของแม่ทัพ

1. ในสภาพการณ์ที่ปัจจัยต่างๆ ของฝ่ายเรากับฝ่ายศัตรูมีพอๆ กัน หากไปจู่โจมศัตรูที่มีจำนวนมากกว่าเราสิบเท่าแล้วแพ้ เรียกว่า “หนี”

2. เหตุแห่งการแพ้อันเกิดจากทหารฮึกเหิม แม่ทัพขลาดเขลา เรียกว่า “ขาดระเบียบ”

3. เหตุแห่งการแพ้อันเกิดจากแม่ทัพเก่งกล้าสามารถ แต่ทหารขลาดเขลาอ่อนแอ เรียกว่า “ขาดการฝึกฝน”

4. การพ่ายแพ้อันเกิดจากการที่ พลทหารเดือดดาลไม่เชื่อฟังคำสั่ง เจอกับศัตรูก็บุกเข้าปะทะโดยพลการ ทั้งแม่ทัพเองก็ไม่กระจ่างในความสามารถของลูกทัพแล้วยังไปควบคุมบังคับมากเกินไปจนกองทัพไม่อาจเปล่งประสิทธิภาพได้ เรียกว่า “แตกพ่าย”

5. เหตุแห่งการพ่ายแพ้อันเกิดจากแม่ทัพขลาดเขลาอ่อนแอและขาดพระเดช การฝึกฝนอบรมลูกทัพก็เป็นไปอย่างไม่กระจ่างชัดเจน ทำให้ลูกทัพปฏิบัติตามไม่ถูก การจัดขบวนทัพสับสนไม่เป็นระเบียบ เรียกว่า “สับสน"

6. เหตุแห่งความพ่ายแพ้อันเกิดจากแม่ทัพไม่อาจหยั่งคาดศัตรูได้อย่างถูกต้อง ใช้กำลังน้อยเข้าตีกำลังมาก ทั้งยังไม่มีทหารที่เข็มแข็งเป็นแกนหลัก เรียกว่า “พ่ายยับ”


ชัยภูมิคือสิ่งที่มีส่วนช่วยในการทำศึก หากสามารถคาดคะเนสถานภาพของศัตรูได้อย่างแม่นยำ จากนั้นวางแผนพิชิตชัย ศึกษาสภาพชัยภูมิอย่างละเอียด คำนวณระยะทาง เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่แม่ทัพพึงกระทำ

หากแม่ทัพเข้าใจสิ่งเหล่านี้และสามารถนำมาใช้ในการรบได้ จะต้องชนะอย่างแน่นอน แม่ทัพที่ไม่เข้าใจหลักการเหล่านี้อันทำให้ไม่อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้ จะต้องพ่ายแพ้

ดังนั้น หากคาดคำนวณทุกปัจจัยในสมรภูมิโดยละเอียดแล้วมีความมั่นใจว่าสามารถเอาชนะได้ ต่อให้ราชามีคำสั่งว่าห้ามรบ ก็สามารถยืนกรานจะรบได้ หากคาดคำนวณทุกปัจจัยในสมรภูมิโดยละเอียดแล้วมั่นใจว่าไม่อาจเอาชนะได้แน่ ต่อให้ราชาสั่งให้รบ ก็อย่ารบ

ในฐานะที่เป็นแม่ทัพ ควรไม่ละโมบชื่อเสียงเกียรติยศจากชัยชนะ และไม่หวั่นเกรงภัยจากอาญาเมื่อพ่ายศึก คิดหวังเพียงให้กองทัพและประชาสามารถอยู่รอดปลอดภัย อันจะสอดคล้องต่อผลประโยชน์หลักของราชา แม่ทัพเช่นนี้จึงจะนับว่าเป็นแม่ทัพอันมีค่าของประเทศ


หากแม่ทัพรักปรานีลูกทัพประดุจบุตรรัก ลูกทัพจะยินดีร่วมเป็นร่วมตายกับแม่ทัพถึงที่สุด แต่หากแม่ทัพปรานีต่อลูกทัพจนถึงขั้นไม่ยอมลงโทษตามระเบียบทัพ ทำให้ลูกน้องไม่เชื่อฟังคำสั่ง ก็เหมือนเลี้ยงลูกให้เสียคน กองทัพเช่นนี้ก็จะไร้ประโยชน์เช่นกัน


รู้แต่ว่าฝ่ายเรามีความสามารถบุกได้โดยไม่เข้าใจว่าสภาพศัตรูในตอนนั้นยังไม่ควรบุก ความเป็นไปได้ที่จะชนะจะมีเพียงครึ่งเดียว

รู้แต่ว่าเราเข้าจู่โจมฝ่ายศัตรูในตอนนี้ได้ แต่ไม่รับรู้ว่าเราในตอนนี้ไม่มีความพร้อมพอจะไปจู่โจมศัตรูได้ ความเป็นไปได้ที่จะชนะก็มีเพียงครึ่งเดียว

ทำความเข้าใจกระจ่างว่าศัตรูในตอนนี้กำลังเหมาะที่เราจะจู่โจม และรู้ว่าความพร้อมของเราในตอนนี้เหมาะจะจู่โจมศัตรู แต่ไม่เข้าใจว่าสภาพชัยภูมิในตอนนั้นไม่เหมาะจะจู่โจมศัตรู ความเป้นไปได้ที่จะชนะก็ยังคงมีเพียงครึ่งเดียวเช่นกัน

ดังนั้น แม่ทัพที่เข้าใจการใช้ทหารอย่างถ่องแท้นั้น ยามเคลื่อนไหวต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน แผนการที่ใช้มีการพลิกแพลงได้ไม่สิ้นสุดโดยไม่ยึดตายตัวตามตำราใดๆ

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า

รู้เขารู้เรา ย่อมชนะ

รู้เวลา รู้ชัยภูมิ ย่อมชนะ


บทที่ ๑๑ เก้าชัยภูมิ
ตามหลักการใช้ทหาร สมรภูมิสามารถแบ่งได้เป็น 9 ชนิด ได้แก่ ที่แบ่ง , ที่เบา , ที่ชิง , ที่ต่อ , ที่เชื่อม , ที่หนัก , ที่ลุ่ม , ที่ล้อม , ที่ตาย

1. หากราชารบกับศัตรูบนดินแดนของตนเอง อันจะทำให้ทหารเป็นห่วงบ้าน จิตใจถูกแบ่งแยก เรียกดินแดนเช่นนี้ว่า “ที่แบ่ง”

2. สมรภูมิที่ล้ำเข้าไปในแดนศัตรูไม่มาก เรียกว่า “ที่เบา”

3. พื้นที่ซึ่งหากเรายึดได้ก่อนจะมีเปรียบแก่เรา หากศัตรูยึดได้ก่อนจะมีเปรียบแก่ศัตรู เรียกว่า “ที่ชิง”

4. พื้นที่ซึ่งทัพเราไปได้ ทัพศัตรูก็มาได้ เรียกว่า“ที่ต่อ”

5. จุดซึ่งแดนเราและแดนศัตรูเชื่อมต่อกับดินแดนอื่น หากใครยึดได้ก่อนก็จะสามารถส่งทูตไปเชื่อมสัมพันธ์กับแดนที่สามให้เกิดพันธมิตรได้ เรียกว่า “ที่เชื่อม”

6. ที่ซึ่งบุกลึกเข้าไปในแดนศัตรูและผ่านเมืองของศัตรูจำนวนมาก เรียกว่า “ที่หนัก”

7. พื้นที่ป่าเขา ภูมิประเทศเปี่ยมอันตราย มีหนองบึงทอดขวางจนยากแก่การสัญจรผ่านได้ เรียกว่า “ที่ลุ่ม”

8. ที่ซึ่งทางเข้าคับแคบ ทางออกคดเคียววกวนและยาวไกล ศัตรูสามารถใช้กองกำลังเพียงหยิบมือพิชิตกองกำลังจำนวนมากของเราได้ เรียกว่า “ที่ล้อม”

9. พื้นที่ซึ่งหากใช้วิธีบุกจู่โจมแบสายฟ้าแลบจะสามารถรอดชีวิตอยู่ได้ หากไม่จู่โจมแบบสายฟ้าแลบจะถูกพิชิตล่มสลาย เรียกว่า “ที่ตาย” (ทางตัน)


ดังนั้น

ที่แบ่ง ไม่ควรรบ

ที่เบา ไม่ควรหยุดแวะพัก

พบ ที่ชิง ต้องชิงยึดก่อนศัตรูให้ได้ หากศัตรูยึดได้ก่อน อย่าฝืนบุก

ถึง ที่ต่อ แต่ละกลุ่มกองรวมตัวกันให้แน่นหนา เพื่อป้องกันศัตรูจู่โจมตัดแยกกองทัพเป็นส่วนๆ

ถึง ที่เชื่อม ต้องเชื่อมไมตรีกับแคว้นเพื่อนบ้าน

ถึง ที่หนัก ต้องรีบชิงปัจจัยจำเป็นต่างๆเพื่อเสริมให้กองทัพฝ่ายเรา

ใน ที่ลุ่ม ควรรีบผ่านไปโดยเร็ว

ใน ที่ล้อม ควรใช้แผนการอันเลิศล้ำรับมือ

ใน ที่ตาย ควรดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อความอยู่รอด


ในอดีต ผู้เชี่ยวชาญการใช้ทหารนั้น สามารถทำให้หัวท้ายทัพศัตรูไม่อาจคำนึงถึงกันได้ กองใหญ่และกองย่อยไม่อาจหนุนเสริมพึงพากันและกันได้ แม่ทัพไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้ แม่ทัพกับลูกทัพถูกตัดขาดกันโดยสิ้นเชิงโดยไม่อาจกอบกู้ ทหารแตกพ่ายโดยไม่อาจรวมตัวติด แม้จะรวมตัวติดได้ในที่สุดก็ไม่เป็นระเบียบ หากรู้ว่าตั้งประจันต่อไปจะได้ประโยชน์ก็จะตั้งประจันต่อไป หากรู้ว่าไร้ประโยชน์ก็จะหยุด

ขอถาม “หากกองทัพศัตรูมากมายมหาศาลทั้งยังจัดตั้งขบวนทัพอย่างเป็นระเบียบบุกเข้าหาเรา เราควรจะทำอย่างไร?”

คำตอบคือ “ให้ชิงตีจุดสำคัญของศัตรู เช่นนี้ศัตรูก็จะถูกบังคับให้เคลื่อนขบวนตามการควบคุมของเรา

หลักการใช้ทหาร เน้นหนักที่รวดเร็วเลิศล้ำ ฉวยโอกาสที่ศัตรูยังไม่ทันลงมือ เดินในเส้นทางที่ศัตรูหยั่งคาดไม่ถึง จู่โจมจุดที่ศัตรูไม่ทันระวัง


หลักในการบุกเข้ารบในดินแดนของศัตรู

หากบุกลึกเข้าแดนศัตรูมาก กำลังใจทหารจะรวมเป็นหนึ่ง ทัพศัตรูจะไม่อาจเอาชัยเราได้

แย่งชิงเสบียงในพื้นที่อุดมสมบูรณ์ หยุดพักสามทัพเพื่อบำรุงกำลัง

บำรุงเลี้ยงดูทหารอย่างดี อย่าให้ต้องเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย จากนั้นกระตุ้นความฮึกเหิม สะสมพละกำลังไว้

ใช้ทหารอย่างมีเหตุผล วางแผนรบอย่างล้ำเลิศ ให้ศัตรูมิอาจสืบทราบได้

จัดวางกำลังพลไว้ยังจุดซึ่งไม่อาจถอยได้อีก และกระตุ้นให้สู้ตาย ในเมื่อทหารไม่หวั่นแม้ความตาย ก็จะทุ่มเทเรี่ยวแรงสู้สุดกำลัง

ทหารถลำลึกเข้าแดนอันตราย ก็ไม่หวาดหวั่น เมื่อไร้ทางให้ถอย จิตใจทหารก็จะกลับกลายเป็นสงบมั่นคง เมื่อบุกลึกเข้าแดนศัตรู สมาธิจะไม่ถูกแบ่งแยกโดยง่าย และจะกระเหี้ยนกระหือรืออยากเสี่ยงชีวิตกับศัตรู

ดังนั้น กองทัพเช่นนี้ แม้ไม่ต้องสั่งก็รู้จักเพิ่มความระมัดระวังเอง ไม่ต้องร้องขอก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงได้เอง ไม่ต้องบังคับก็รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกันเอง ไม่ต้องสั่งก็รู้จักรักษาระเบียบทัพเอง

ห้ามขาดเรื่องความเชื่องมงาย ขจัดข่าวลือทั้งปวง ต่อให้ต้องสู้จนตายก็ไม่ถอยหนี

การที่ทหารของฝ่ายเราทำลายทรัพย์สินส่วนเกินทิ้งไปมิใช่เป็นเพราะรังเกียจทรัพย์สินเหล่านั้น ไม่กลัวการสละชีวิตมิใช่เพราะไม่คิดมีชีวิตอยู่อีกต่อไป ยามคำสั่งรบถูกประกาศ ทหารที่นั่งอยู่จะหลั่งน้ำตารดอกเสื้อ ที่นอนอยู่จะน้ำตาไหลอาบแก้ม

จงทำให้กองทัพอยู่ในสภาพหมดสิ้นทางถอย ทหารก็จะเปลี่ยนเป็นกล้าหาญเอง


ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญการใช้ทหาร จะเป็นประดุงงู “ซ่วยหราน” อันงูซ่วยหรานคืองูชนิดหนึ่งของภูเขาฉาง หากตีหัวงู หางงูจะมาช่วย หากตีหางงู หัวงูจะมาช่วย หากตีกลางตัวงู หัวและหางงูจะมาช่วย

ขอถาม “เราสามารถทำให้กองทัพเป็นดังงูซ่วยหรานได้หรือไม่?”

คำตอบคือ “ทำได้”

ชาวแคว้นอู๋และชาวแคว้นเยว่ แม้จะเป็นศัตรูคู่แค้นกันมานาน แต่เมื่อพวกเขาลงเรือลำเดียวกัน แล้วเผชิญกับลมพายุ ก็สามารถที่จะช่วยเหลือกันและกันได้ ประดุจแขนซ้ายขวา

ดังนั้น คิดจะใช้วิธีผูกม้าหยุดรถศึกเพื่อให้จิตใจของทหารสงบลงนั้น มันเชื่อถือไม่ได้

หากต้องการให้ทหารทุกคนรวมใจเป็นหนึ่งเดียวออกรบอย่างกล้าหาญ ต้องมีการบังคับบัญชาที่ดี

ต้องการให้ทหารที่ขลาดเขลาอ่อนแอสู้สุดกำลัง ขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์จากชัยภูมิอย่างเหมาะสม

ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญการใช้ทหาร จะสามารถบังคับบัญชาสามทัพได้อย่างง่ายดายประดุจบังคับคนเพียงคนเดียว นั่นก็เนื่องมาจากทำให้ทหารตกอยู่ในสภาพคับขันหมดสิ้นทางถอยนั่นเอง


การบังคับบัญชากองทัพ ต้องสุขุมเยือกเย็น ลึกซึ้งมิอาจหยั่ง เข้มงวดจริงจัง และเป็นขั้นตอน

ต้องสามารถปิดบังไม่ให้ทหารทราบแผนการได้แม้แต่น้อย

เปลี่ยนหน้าที่รับผิดชอบ เปลี่ยนแผนการ ให้คนอื่นไม่อาจมองออกได้

ต้องหมั่นเปลี่ยนที่ตั้งค่าย เดินทัพวกวนไปมาเพื่อให้ศัตรูคาดเดาจุดหมายปลายทางและความเคลื่อนไหวไม่ออก

ยามแม่ทัพมอบหมายภาระหน้าที่แก่พลทหาร ต้องทำเหมือนให้เขาขึ้นไปสู่ที่สูงแล้วเอาบันไดออกให้เขาไม่อาจจะลงมาได้อีก

เมื่อนำทัพบุกลึกเข้าสู่แดนศัตรู จะต้องเหมือนยิงธนูเหนี่ยวหน้าไม้ ไปแล้วไม่อาจย้อนกลับ

เผาเรือทิ้งให้หมด ทุบหม้อข้าวทิ้งให้หมด เป็นการบอกว่าจะต้องตัดสินใจเด็ดขาด เราต้องทำเหมือนไล่ต้อนแพะ ให้มันวิ่งไปทางโน้นวิ่งมาทางนี้ ให้พวกเขาไม่ทราบว่ากำลังจะไปที่ไหนกันแน่

รวบรวมกองทหารทั้งหมดให้ไปอยู่ยังจุดอันตราย ให้พวกเขาถูกบีบให้ต้องสู้ตาย นี่คือหน้าที่ของแม่ทัพ

เปลี่ยนแผนการที่ใช้ตามสภาพท้องที่เพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ รุกหน้าถอยหลัง ยึดกุมจิตใจทหารในสภาวการณ์ที่แตกต่างกันทุกแบบให้ได้

เหล่านี้ล้วนมิอาจไม่ศึกษาพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน


หลักการยกทัพออกนอกประเทศ ยิ่งบุกลึกเข้าแดนศัตรูมากเท่าไร จิตใจทหารจะยิ่งรวมเป็นหนึ่ง หากบุกลึกไม่มาก ทหารก็จะเกิดความคิดแบ่งแยกอยากจะหนี

ยามออกจากแคว้นตน ข้ามผ่านแคว้นเพื่อนบ้านสู่แดนศัตรูที่เป็นสมรภูมิ เรียกว่า “ที่อันตราย”

ที่ซึ่งเชื่อมต่อไปได้หลายดินแดนเรียกว่า “ที่เชื่อม”

เมื่อล้ำลึกเข้าไปในแดนศัตรูมาก เรียกว่า “ที่หนัก”

บุกลึกเข้าไปในแดนศัตรูไม่มาก เรียกว่า “ที่เบา”

ที่ผาชันอันตราย เรียกว่า “ที่ล้อม”

ที่ซึ่งหมดสิ้นทางถอย เรียกว่า “ที่ตาย”

ดังนั้น ใน “ที่แบ่ง” พวกเราต้องรวมใจเป็นหนึ่ง

ใน “ที่เบา” เราต้องให้กองทัพอยู่รวมตัวกัน ติดต่อสื่อสารถึงกันได้ตลอด

พบ “ที่ชิง” เราต้องไปให้ถึงด้านหลังของมันก่อน

ใน “ที่ต่อ” เราต้องตั้งรับอย่างระมัดระวัง

ใน “ที่เชื่อม” เราต้องเสริมความมั่นคงให้กับความเป็นพันธมิตรกับเพื่อนบ้าน

ใน “ที่หนัก” เราต้องทำให้เสบียงของกองทัพไม่ขาดแคลน

ใน “ที่ลุ่ม “ เราต้องผ่านไปโดยเร็ว

ใน “ที่ล้อม” เราต้องอุดทางเข้าออก

ใน “ที่ตาย” เราต้องแสดงถึงการตัดสินใจสู้ตาย


สภาพจิตใจของทหารนั้น หากถูกโอบล้อมก็จะต้องพยายามต่อต้าน และจะถูกบีบให้ต้องสู้ตายโดยปริยาย และเมื่อตกอยู่ในภาวะคับขัน ก็จะเชื่อฟังคำบังคับบัญชาไปเองโดยปริยาย


หากไม่ทราบแผนการของราชาแคว้นอื่น จงอย่าผูกไมตรีด้วยเด็ดขาด

หากไม่ชำนาญพื้นที่ป่าเขา ภูมิประเทศเปี่ยมอันตราย และเขตหนองบึง ห้ามเดินทัพผ่านเด็ดขาด

หากไม่ใช้ข้อมูลข้างต้นที่ได้กล่าวมาแล้วเหล่านั้น จะไม่อาจได้ประโยชน์จากการรบเด็ดขาด

สำหรับข้อดีข้อด้อยของ “เก้าชัยภูมิ” นั้น หากมีข้อที่ไม่เข้าใจแม้เพียงข้อเดียว ก็ไม่อาจนับเป็นกองทัพมหาอำนาจได้ กองทัพมหาอำนาจ ยามบุกตีแคว้นใหญ่ สามารถทำให้ทหารและประชาของแคว้นนั้นรวมตัวไม่ทัน

ยามแผ่อำนาจไปประชิดแดนศัตรู จะทำให้แคว้นนั้นไม่อาจเชื่อมไมตรีกับแคว้นอื่นได้ ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องชิงเชื่อมไมตรีกับแคว้นอื่น และไม่จำเป็นต้องเพาะสร้างฐานอำนาจของตนในดินแดนแคว้นอื่น เพียงอาศัยกำลังของตนเอง แผ่อานุภาพกดดันแคว้นศัตรู ก็สามารถยึดเมืองของศัตรู ทำลายแคว้นของศัตรูได้แล้ว

บำเหน็จรางวัลให้เหนือกว่ายามปกติ ออกคำสั่งที่ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น บังคับบัญชาทหารทั้งกองทัพดุจสั่งการคนเพียงคนเดียว สั่งให้ทหารปฏิบัติหน้าที่โดยไม่บอกจุดประสงค์ให้ทราบ เพียงบอกถึงประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับโดยไม่บอกถึงอันตรายที่พวกเขาจะได้รับ

ต้องบีบให้ทหารตกอยู่ในภาวะคับขันจึงจะสามารถเอาชีวิตรอดได้ ต้องบีบให้ทหารเข้าสู่ที่ตาย จึงจะสามารถดิ้นรนเอาชีวิตรอดได้ เมื่อทหารตกอยู่ในภาวะคับขัน จึงจะสามารถสู้สุดกำลังเพื่อให้ได้รับชัยชนะ

ดังนั้น การบัญชาการรบ ต้องแสร้งทำเป็นเดินไปตามแผนของศัตรู จากนั้นทันทีที่มีโอกาสให้ฉกฉวย ก็รวมกำลังพลบุกเข้าใส่ศัตรูเป็นจุดเดียว เช่นนี้ แม้จะผ่านการเดินทัพพันลี้ ก็ยังสามารถสังหารแม่ทัพศัตรูได้

นี่เองคือความหมายของความเลิศล้ำเหมาะเจาะสามารถสำเร็จการใหญ่


ดังนั้น เมื่อได้ตัดสินใจแล้วว่าจะทำสงคราม จึงต้องปิดด่าน ยกเลิกหมายอนุญาตเข้าออกข้ามแดนโดยสิ้นเชิง ยกเลิกการส่งทูตเจรจากับแดนศัตรู หมั่นทบทวนศึกษาและคิดวางแผนการรบ ทันทีที่พบว่าศัตรูมีช่องว่างให้จู่โจม ก็ให้รีบฉวยโอกาสบุกเข้าไปทันที

ก่อนอื่นต้องตีชิงจุดยุทธศาสตร์สำคัญของศัตรูให้ได้ และห้ามนัดหมายเวลาปะทะกันกับศัตรูเด็ดขาด แผนการที่วางไว้ควรพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามความเคลื่อนไหวของศัตรู เพื่อชัยชนะในการรบ ดังนั้น แรกเริ่มจะต้องสงบเสงี่ยมนิ่งเงียบจนศัตรูเริ่มผ่อนคลาย จากนั้นค่อยเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วให้ศัตรูป้องกันไม่ทัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น